Orsini’s Plot

แผนออร์ซีนี

​​     ​แผนออร์ซีนีเป็นการคบคิดกันของชาวอิตาลีรักชาติเพื่อปลงพระชนม์จักรพรรดินโปเลียนที่ ๓ (Napoleon III)* ระหว่างเสด็จไปทอดพระเนตรละครในคืนวันที่ ๑๔ มกราคม ค.ศ. ๑๘๕๘ เคานต์เฟลีเช ออร์ซีนี (Felice Orsini) ผู้คิดแผนปลงพระชนม์ผิดหวังที่จักรพรรดินโปเลียนที่ ๓ ไม่สนับสนุนการเคลื่อนไหวเพื่อการรวมชาติอิตาลี (Unification of Italy)* จึงคบคิดวางแผนร่วมกับชาวอิตาลีรักชาติอีก ๓ คนเพื่อปลงพระชนม์พระองค์แต่ประสบความล้มเหลว ออร์ซีนีถูกตัดสินประหารด้วยเครื่องกิโยตีน (guillotine) ความพยายามในการลอบปลงพระชนม์ครั้งนี้มีส่วนทำให้จักรพรรดินโปเลียนที่ ๓ ซึ่งทรงลังเลพระทัยเกี่ยวกับการจะสนับสนุนขบวนการรวมชาติอิตาลีเปลี่ยนพระทัยมาช่วยชาวอิตาลีในการรวมชาติ และนำไปสู่การลงนามในความตกลงปลงบีแยร์ (Plombières Agreement)* ระหว่างฝรั่งเศสกับราชอาณาจักรปีดมอนต์-ซาร์ดิเนีย (Piedmont-Sardinia) ในต้นเดือนกรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๕๘
     แผนออร์ซีนีเป็นผลสืบเนื่องจากการเคลื่อนไหวของชาวอิตาลีรักชาติที่เคยเป็นสมาชิกของสมาคมคาร์โบนารี (Carbonari)* และขบวนการอิตาลีหนุ่ม (Young Italy)* ที่มีจูเซปเป มัซซีนี (Giuseppe Mazzini)* เป็นผู้นำ เฟลีเช ออร์ซีนีเป็นปัญญาชนเสรีนิยมที่เกิดและเติบโตในแคว้นโรมัญญา (Romagna) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของรัฐสันตะปาปา (Papal States) บิดาของเขาเคยพบและรู้จักกับเจ้าชายชาร์ล หลุยส์ นโปเลียน โบนาปาร์ต (Charles Louis Napoleon Bonaparte)* พระภาติยะ (หลานลุง) ของจักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ (Napoleon I ค.ศ. ๑๘๐๔-๑๘๑๕)* ซึ่งเคยเข้าร่วมกับสมาชิกคาร์โบนารีในการเคลื่อนไหวปฏิวัติที่ดัชชีแห่งโมเดนา (Duchy of Modena) ทางตอนเหนือของรัฐสันตะปาปาใน ค.ศ. ๑๘๓๐ จนถูกเนรเทศออกจากอิตาลี เมื่อเจ้าชายหลุยส์นโปเลียนได้เป็นประธานาธิบดีของฝรั่งเศส (ค.ศ. ๑๘๔๘-๑๘๕๒) และต่อมาสถาปนาตนเป็นจักรพรรดิแห่งจักรวรรดิฝรั่งเศสที่ ๒ (Second Empire of France)* ในต้นเดือนธันวาคม ค.ศ. ๑๘๕๒ ออร์ซีนีซึ่งเข้าร่วมในขบวนการรวมชาติอิตาลีตั้งแต่ปลายทศวรรษ ๑๘๓๐ และถูกจับกุมหลายครั้งแต่ก็หนีรอดมาได้รู้สึกผิดหวังที่เจ้าชายหลุยส์ นโปเลียนซึ่งขึ้นสู่อำนาจในฝรั่งเศสไม่ได้ให้ความสนใจต่อการต่อสู้ของชาวอิตาลีอีกต่อไป เขาเห็นว่าจักรพรรดินโปเลียนที่ ๓ ทรงมุ่งสร้างความยิ่งใหญ่ให้แก่ฝรั่งเศสและดำเนินนโยบายร่วมมือกับอังกฤษและออสเตรียเพื่อต่อต้านรัสเซียจนทอดทิ้งอิตาลีไป
     ในต้นทศวรรษ ๑๘๕๐ มัซซีนีซึ่งวางแผนก่อการลุกฮือขึ้นที่เมืองมิลาน (Milan) ได้ส่งออร์ซีนีไปปฏิบัติภารกิจลับที่ฮังการีเพื่อประสานงานกับกลุ่มปัญญาชนที่เคลื่อนไหวต่อต้านการปกครองอันกดขี่ของจักรพรรดิฟรานซิส โจเซฟ (Francis Joseph ค.ศ. ๑๘๔๘-๑๙๑๖)* แห่งจักรวรรดิออสเตรีย (Austrian Empire)* แต่ตำรวจสืบเบาะแสได้และจับกุมเขาคุมขังที่มันตูอา (Mantua) ในกลาง ค.ศ. ๑๘๕๔ แต่ในเวลาต่อมาออร์ซีนีสามารถหลบหนีได้เขาบันทึกเรื่องราวการต่อสู้เผยแพร่เป็นหนังสือชื่อ The Memoirs and Adventures of Felice Orsini ( ค.ศ. ๑๘๕๖) ซึ่งมีผู้นำไปถ่ายทอดเป็นภาษาอังกฤษและเผยแพร่ในหน้าหนังสือพิมพ์รายวันของอังกฤษ ใน ค.ศ. ๑๘๕๗ เขาเขียนเล่าประสบการณ์ของการถูกจำคุกในฮังการีและการหลบหนีเป็นหนังสือเรื่อง The Austrian Dungeons มัซซีนีขุ่นเคืองที่ออร์ซีนีเผยแพร่เรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ เขามีส่วนพัวพัน ซึ่งแม้จะไม่เอ่ยนามของมัซซีนีโดยตรงแต่ก็มีนัยให้เข้าใจได้ว่าเขาอยู่เบื้องหลังของภารกิจที่ทำให้ออร์ซีนีถูกจับคุมขัง สายสัมพันธ์ระหว่างคนทั้งสองจึงขาดสะบั้นออร์ซีนีแยกตัวมาจัดตั้งกลุ่มของตนเองและเคลื่อนไหวอย่างอิสระทั้งหันไปสนับสนุนราชอาณาจักรปีดมอนต์ซาร์ดิเนีย
     ต่อมา เมื่อเคานต์คามิลโล เบนโซ ดิ คาวัวร์ (Count Camillo Benso di Cavour)* อัครเสนาบดีแห่งราชอาณาจักรปีดมอนต์-ซาร์ดิเนียสนับสนุนให้มีการจัดตั้ง "สมาคมแห่งชาติ" (National Society) ขึ้นตาม เมืองต่าง ๆ ระหว่าง ค.ศ. ๑๘๕๖-๑๘๕๘ เพื่อโน้มน้าวให้ชาวอิตาลีในรัฐต่าง ๆ ช่วยราชอาณาจักรปีดมอนต์ซาร์ดิเนียทำสงครามกับออสเตรียกระแสต่อต้านออสเตรียและความต้องการรวมชาติที่เรียกกันทั่วไปว่า รีซอร์จีเมนโต (Risorgimento)* จึงก่อตัวขึ้นทั่วอิตาลีโดยมี Piccolo Corriere d’ Italia วารสารของสมาคมเป็นสื่อกลางปลุกระดมทางความคิด จูเซปเป การีบัลดี (Giuseppe Garibaldi)* อดีตผู้นำกองทหารอาสาสมัครเสื้อแดงชาวปีดมอนต์-ซาร์ดิเนียที่เคยร่วมก่อการปฏิวัติโค่นอำนาจของออสเตรียในการปฏิวัติ ค.ศ. ๑๘๔๘ ก็ได้รับการติดต่อจากคาวัวร์อย่างลับ ๆ ให้ช่วยจัดตั้งกองกำลังขึ้น ออร์ซีนีซึ่งชื่นชอบการีบัลดีก็เตรียมการเคลื่อนไหวเพื่อประสานงานกับเขาและกับขบวนการรวมชาติอื่น ๆ ออร์ซีนีเห็นว่าจักรพรรดินโปเลียนที่ ๓ คือสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดกระแสต่อต้านแนวความคิดเสรีนิยมขึ้นในยุโรป เนื่องจากพระองค์ทรงปกครองฝรั่งเศสด้วยลัทธิอำนาจนิยม (authoritarianism) และทรงต่อต้านการรวมชาติอิตาลีด้วยการผูกมิตรกับออสเตรียทั้งพระองค์ก็ถูกชาวอิตาลีหัวรุนแรงพยายามลอบปลง พระชนม์มาแล้วไม่น้อยกว่า ๓ ครั้งระหว่าง ค.ศ. ๑๘๕๕-๑๘๕๗ เขาจึงคิดแผนปลงพระชนม์พระองค์เพราะเชื่อมั่นว่าทรงเป็นอุปสรรคของการรวมชาติและการสิ้นพระชนม์จะทำให้ฝรั่งเศสเกิดความวุ่นวายและนำไปสู่การปฏิวัติ ขบวนการรวมชาติอิตาลีจะใช้เงื่อนไขของสถานการณ์การเมืองในฝรั่งเศสก่อการลุกฮือโค่นอำนาจออสเตรีย ด้วยความคิดดังกล่าวออร์ซีนีจึงเดินทางไปกรุงปารีสในกลาง ค.ศ. ๑๘๕๗ เพื่อหาลู่ทางและโอกาสที่จะปลงพระชนม์พระองค์
     ในปลาย ค.ศ. ๑๘๕๗ ออร์ซีนีเดินทางไปอังกฤษและอยู่ที่กรุงลอนดอนเป็นช่วงเวลาสั้น ๆ เขาติดต่อกับโจเซฟ เทเลอร์ (Joseph Taylor) ช่างทำปืนซึ่งมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันในขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อให้ทำระเบิดที่เขาออกแบบรวม ๖ ลูก มีการทดสอบลูกระเบิดที่เชฟฟีลด์และเดวอนเชียร์โดยซีมงแบร์นาร์ (Simon Bernard) ชาวฝรั่งเศสหัวรุนแรงเป็นผู้ติดต่อหาสถานที่ จากนั้นออร์ซีนีก็เดินทางกลับกรุงปารีสและติดต่อผู้ร่วมงานซึ่งเคยเป็นสมาชิกสมาคมคาร์โบนารีอีก ๓ คนคือจูเซปเป ปีเอรี (Giuseppe Pieri) อันโตนีโอ โกเมซ (Antonio Gomez) และการ์โล ดิ รูดีโอ (Carlo di Rudio) ซึ่งภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็นชาร์ล เดอ รูดีโอ (Charles de Rudio) เพื่อวางแผนการปลง พระชนม์
     ในเย็นวันที่ ๑๔ มกราคม ค.ศ. ๑๘๕๘ ขณะที่จักรพรรดินโปเลียนที่ ๓ พร้อมด้วยจักรพรรดินีเออเชนี มารีอา เดอ มงตีโช (Eugénie Maria de Montijo) เสด็จไปโรงละครที่ถนนเลอเปเลตีเย (Le Peletier) เมื่อใกล้ถึงโรงละครออร์ซีนีกับพลพรรคซึ่งดักซุ่มอยู่ได้โยนระเบิดใส่รถม้าพระที่นั่งระเบิดลูกแรกตกที่หน้ารถใกล้กับที่นั่งของสารถี ลูกที่ ๒ ถูกม้าบาดเจ็บและแรงระเบิดทำให้กระจกรถพระที่นั่งแตกกระจาย ลูกที่ ๓ ตกใต้ท้องรถและทำให้ตำรวจที่อยู่บริเวณใกล้เคียงซึ่งวิ่งมาคุ้มกันจักรพรรดิและจักรพรรดินีบาดเจ็บจักรพรรดิและ จักรพรรดินีทรงบาดเจ็บแค่ถลอกและปลอดภัยอย่างปาฏิหาริย์แต่มีประชาชนเสียชีวิต ๘ คนและบาดเจ็บ ๑๔๒ คน ทั้ง ๒ พระองค์ทรงดูแลประชาชนที่ได้รับบาดเจ็บชั่วขณะและเสด็จไปทอดพระเนตรละครตามหมายกำหนด เมื่อเสด็จเข้าที่ประทับในโรงละครก็ได้รับการปลอบพระทัยโดยผู้คนที่อยู่ในโรงละครต่างลุกขึ้นยืนปรบมือต้อนรับ แม้ออร์ซีนีจะโดนสะเก็ดระเบิดที่ ขมับข้างขวาบาดเจ็บแต่เขาและเหล่าสหายก็หลบหนีไปไดอย่างไรก็ตาม ในอีก ๒ วันต่อมาคนทั้งหมดซึ่งถูกตามล่าก็ถูกจับกุมได้
     การพยายามลอบสังหารกลับทำให้จักรพรรดิ นโปเลียนทรงได้รับความเห็นอกเห็นใจและเป็นที่ นิยม มากขึ้นระเบิดสังหารที่ ผลิตในอังกฤษยังมีส่วนทำให้การต่อต้านอังกฤษเริ่มก่อตัวขึ้นเพราะเข้าใจกันว่าอังกฤษมีส่วนรู้เห็นในแผนการปลงพระชนม์ครั้งนี้จักรพรรดิ นโปเลียนที่ ๓ ทรงปฏิเสธที่ จะยอมรับความเกี่ยวข้องของ อังกฤษและมีผลให้ความตึงเครียดทางการเมืองใน ประเด็นปัญหาดังกล่าวผ่อนคลายลงในท้ายที่สุด
     ในช่วงที่รอการพิจารณาคดีในคุก ออร์ซีนีเขียนจดหมายถึงจักรพรรดินโปเลียนที่ ๓ โดยอธิบายว่า  เขาไม่ได้เกลียดชังพระองค์หรือประชาชนฝรั่งเศสเป็นส่วนตัว แต่หลังการปฏิวัติ ค.ศ. ๑๘๔๘ (Revolutions of 1848)* ที่เกิดขึ้นทั่วยุโรป ฝรั่งเศสได้เข้าแทรกแซงการเมืองภายในของอิตาลีด้วยการส่งกองทัพไปช่วยเหลือสันตะปาปาไพอัสที่ ๙ (Pius IX ค.ศ. ๑๘๔๖-๑๘๗๘)* ให้กลับสู่อำนาจทั้งยังให้กองทัพฝรั่งเศสประจำการป้องกันกรุงโรม เขาจึงเห็นว่าพระองค์เป็นศัตรูหลักของการรวมชาติอิตาลีและจำเป็นต้องกำจัดพระองค์ ในท้ายจดหมายเขาวิงวอนขอให้พระองค์ไม่ขัดขวางความ ปรารถนาของคนซึ่งกำลังจะตายที่ฝันถึงการปลดปล่อยประเทศให้เป็นอิสระโดยมีประชาชนกว่า ๒๕ ล้านคนจะสานต่ออุดมการณ์ของเขา จดหมายดังกล่าวมีส่วนทำให้จักรพรรดินโปเลียนที่ ๓ ประสงค์จะนิรโทษกรรมให้ออร์ซีนีแต่คณะรัฐบาลไม่เห็นด้วย อย่างไรก็ตาม ในวันตัดสินคดี พระองค์ทรงอนุญาตให้ทนายของออร์ซีนีอ่านจดหมายที่เขาเขียนถึงพระองค์ในศาลด้วยซึ่งทำให้ออร์ซีนีกลายเป็นวีรชนผู้รักชาติที่ยอมพลีชีพเพื่ออุดมการณ์อันสูงส่ง
     ออร์ซีนีถูกตัดสินประหารด้วยเครื่องกิโยตีนเมื่อวันที่ ๑๓ มีนาคม ค.ศ. ๑๘๕๘ ส่วนผู้ร่วมคบคิดอีก ๓ คน คือ ปีเอรีถูกประหารชีวิต โกเมซถูกตัดสินโทษให้ทำงานหนักในคุกตลอดชีวิต ในขั้นต้น ดิ รูดีโอถูกตัดสินประหารแต่การที่เขายอมสารภาพและเปิดเผยรายละเอียดของแผนสังหาร เขาจึงถูกตัดสินให้จำคุกตลอดชีวิตที่เกาะเดวิลส์ (Devil’s Island) ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นขุมนรกของนักโทษที่อยู่ในแคว้นเฟรนช์เกียนา (French Guiana) ทางฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือของทวีปอเมริกาใต้ อย่างไรก็ตาม ต่อมา ดิ รูดีโอสามารถหลบหนีได้และเดินทางไปสหรัฐอเมริกาซึ่งภายหลังเขาเข้าร่วมในกองพลทหารม้าที่ ๗ (Seventh Cavalry) และเข้าร่วมรบในยุทธการลิตเติลบิกฮอร์น (Little Big Horn) ที่มีชื่อเสียง
     แผนออร์ซีนีเปิดโอกาสให้ชอร์ช โอสมาน (Georges Haussmann) ข้าหลวงกรุงปารีสซึ่งกำลังดำเนินการเปลี่ยนแปลงโฉมกรุงปารีสให้ทันสมัยสมกับเป็นเมืองหลวงของจักรวรรดิ ปรับปรุงถนนสายต่าง ๆ ที่คับแคบซึ่งง่ายต่อการจัดตั้งสิ่งกีดขวางเมื่อเกิดการจลาจลประท้วงและแออัดด้วยที่อยู่อาศัยของคนจนตาม ๒ ข้างทางให้เป็นถนนสายใหญ่ที่โล่งกว้างและสว่างไสวด้วยแสงไฟทั้งสะดวกต่อการสัญจรไปมา ถนนสายที่ออร์ซีนีซุ่มโจมตีรถม้าพระที่นั่งซึ่งต่อมากลายเป็นถนนสายใหญ่ที่กว้างขวางและสุดปลายถนนคือที่ตั้งของโอเปราการ์นีเย (Opéra Garnier) โรงละครใหม่ โดยเรียกชื่อว่าถนนนโปเลียนที่ ๓ แต่ในสมัยสาธารณรัฐฝรั่งเศสที่ ๓ (Third French Republic ค.ศ. ๑๘๗๐-๑๙๔๐)* เปลี่ยนชื่อใหม่เป็นถนนโอเปรา (Avenue de l’Opéra) นอกจากนี้ แผนออร์ซีนียังทำให้จักรพรรดินโปเลียนที่ ๓ ทรงเปลี่ยนพระทัยเกี่ยวกับปัญหาการเมืองของอิตาลี สองเดือนหลังการลอบปลงพระชนม์ทรงยอมพบกับคอนสตันตีโน นีกรา (Constantino Nigra) ผู้แทนส่วนตัวของคาวัวร์ซึ่งเดินทางมากรุงปารีสเพื่อโน้มน้าวพระองค์ให้สนับสนุนการรวมชาติอิตาลีด้วยการทำสงครามกับออสเตรีย จักรพรรดินโปเลียนจึงทรงเรียกร้องให้คาวัวร์ปราบปรามกลุ่มที่สนับสนุนมัซซีนีเพื่อแลกเปลี่ยนกับการจะเปิดการเจรจาลับระหว่างพระองค์กับคาวัวร์เกี่ยวกับปัญหาการรวมชาติอิตาลีคาวัวร์ยอมปฏิบัติตามด้วยการสั่งปิดสิ่งพิมพ์ของขบวนการมัซซีนีและปราบปรามอย่างเด็ดขาด แต่ทั้งจักรพรรดินโปเลียนที่ ๓ และคาวัวร์ก็ตระหนักว่ามาตรการดังกล่าวเป็นเพียงการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้น หากจักรพรรดินโปเลียนไม่ทรงสนับสนุนการรวมชาติอิตาลีพระองค์ก็อาจจะยังคงถูกคุกคามและถูกลอบปลงพระชนม์โดยชาวอิตาลีรักชาติหัวรุนแรงได้อีกในวันข้างหน้า
     ในต้นเดือนกรกฎาคม ค.ศ ๑๘๕๘ จักรพรรดินโปเลียนที่ ๓ ทรงเชิญคาวัวร์ไปเฝ้าที่เมืองปลงบีแยร์-เล -แบง (Plombières-les-Bain) เพื่อเจรจาลับเกี่ยวกับการจะช่วยเหลือการรวมอิตาลีในกรณีที่ ราชอาณาจักรปีดมอนต์-ซาดิเนียถูกออสเตรียโจมตี การเจรจาได้นำไปสู่ความตกลงปลงบีแยร์ระหว่างฝรั่งเศสกับราช อาณาจักรปีดมอนต์-ซาร์ดิเนียซึ่งมีสาระสำคัญคือการร่วมมือกันทำสงครามกับออสเตรียโดยมีเงื่อนไขว่าออสเตรียจะต้องเป็นฝ่ายก่อสงครามเพื่อเปิดโอกาสให้ฝรั่งเศสเข้าแทรกแซง เมื่อสงครามเกิดขึ้นทั้งฝรั่งเศสและปีดมอนต์-ซาร์ดิเนียจะประสานการรบกันทำสงครามจนสามารถขับออสเตรียออกจากอิตาลี ปีดมอนต์-ซาร์ดิเนียจะได้รับลอมบาร์ดี (Lombardy) และวินีเชีย (Venetia) รัฐทางภาคเหนือที่ออสเตรียเคยครอบครองรวมทั้งดัชชีแห่งโมเดนาและปาร์มา (Parma) ตลอดจน แคว้นเอมีลยา-โรมัญญา (Emilia-Romagna) ปีดมอนต์-ซาร์ดิเนียจะกลายเป็นผู้นำในการสถาปนาราชอาณาจักรแห่งอิตาลีทางตอนเหนือ (Kingdom of Upper Italy) ส่วนรัฐทัสกานี (Tuscany) จะยังคงเป็นรัฐอิสระและได้รับดินแดนของรัฐสันตะปาปา (Papal States) คืออุมเบรีย (Umbria) และมาร์เชส (Marches) จัดตั้งเป็นราชอาณาจักรแห่งอิตาลีตอนกลาง (Kingdom of Central Italy) กรุงโรมและเขตเลชีอัม (Latium) รวมทั้งราชอาณาจักรซิซีลีทั้งสอง (Kingdom of the Two Sicilies) จะอยู่ใต้การปกครองของสันตะปาปาไพอัสที่ ๙ โดยสถาปนาเป็นสหพันธรัฐและสันตะปาปาทรดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี ฝรั่งเศสจะได้รับรัฐซาวอย (Savoy) เป็นการตอบแทนและต่อมาในความตกลงฉบับที่ ๒ ในเดือนมกราคม ค.ศ. ๑๘๕๙ ก็ได้รับเมืองนีซ (Nice) เพิ่มเติม
     จักรพรรดินโปเลียนที่ ๓ ยังทรงคาดหวังว่านโปเลียน ลูเซียง ชาร์ล มูรา (Napoleon Lucien Charles Mura) โอรสของโชอากีม มูรา (Joachim Murat)* จอมพลคนสนิทของจักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ ที่เคยเป็นกษัตริย์แห่งเนเปิลส์ (Naples) ระหว่าง ค.ศ. ๑๘๐๘-๑๘๑๕ ซึ่งพระองค์สถาปนาให้เป็นเจ้าชายจะได้ขึ้นครองบัลลังก์เนเปิลส์ โดยอยู่ใต้การคุ้มครองของฝรั่งเศสซึ่งมีฐานกำลังอยู่เมืองฟลอเรนซ์ (Florence) แต่พระประสงค์ของพระองค์ไม่ได้รวมอยู่ในความตกลงปลงบีแยร์ อย่างไรก็ตาม ในเวลาต่อมาปีดมอนต์-ซาร์ดิเนียก็ยอมรับเงื่อนไขดังกล่าวเพื่อเป็นหลักประกันว่าฝรั่งเศสจะรักษาความตกลงระหว่างกัน ทั้งยังให้เจ้าหญิงมารีอา โกลติลเด (Maria Clotilde) ราชธิดาองค์เล็กพระชนมายุ ๑๕ พรรษา ของพระเจ้าวิกเตอร์ เอมมานูเอลที่ ๒ [Victor Emmanuel II ค.ศ. ๑๘๔๙-๑๘๖๑ (ปีดมอนต์ ซาร์ดิเนีย), ค.ศ. ๑๘๖๑-๑๘๗๘ (อิตาลี)]* เสกสมรสกับเจ้าชายเชโรม โบนาปาร์ต (Jérôme Bonaparte) พระปิตุลาของจักรพรรดินโปเลียนที่ ๓ หรืออดีตกษัตริย์แห่งเวสต์ฟาเลีย (Kingdom of Westphalia) ในวัย ๗๕ ชันษาด้วย ซึ่งจะเป็นการเปิดโอกาสให้ราชวงศ์โบนา-ปาร์ตได้เกี่ยวดองกับราชวงศ์ซาวอย (House of Savoy) ที่เป็นราชวงศ์เก่าแก่ราชวงศ์หนึ่งของยุโรป นอกจากนี้ยังมีข้อตกลงระหว่างกันว่าจะให้ประชาชนในรัฐต่าง ๆ ลงประชามติว่าต้องการรวมเข้ากับปีดมอนต์-ซาร์ดิเนียหรือฝรั่งเศส
     แผนออร์ซีนีจึงมีส่วนทำให้ปัญหาการรวมชาติอิตาลีบรรลุผลสำเร็จอีกระดับหนึ่งเพราะทำให้ฝรั่งเศสเปลี่ยนแปลงนโยบายเกี่ยวกับอิตาลี ความตกลงปลงบีแยร์ ค.ศ. ๑๘๕๘ ยังนำไปสู่การลงนามกติกาสัญญาพันธมิตรป้องกันตนเอง (Defensive Alliance) ระหว่างปีดมอนต์-ซาร์ดิเนียกับฝรั่งเศสในเดือนธันวาคม ค.ศ. ๑๘๕๘ และท้ายที่สุดก็ทำให้เกิดสงครามระหว่างออสเตรียกับราชอาณาจักรปีดมอนต์-ซาร์ดิเนียในกลาง ค.ศ. ๑๘๕๙ ซึ่งทำให้ความตกลงปลงบีแยร์มีผลในทางปฏิบัต



คำตั้ง
Orsini’s Plot
คำเทียบ
แผนออร์ซีนี
คำสำคัญ
- ปาร์มา
- ปลงบีแยร์-เล-แบง, เมือง
- ทัสกานี, รัฐ
- นีกรา, คอนสตันตีโน
- ซิซีลีทั้งสอง, ราชอาณาจักร
- เดวิลส์, เกาะ
- เออเชนี มารีอา เดอ มงตีโช, จักรพรรดินี
- ซาวอย, รัฐ
- รูดีโอ, ชาร์ล เดอ
- รูดีโอ, การ์โล ดิ
- วิกเตอร์ เอมมานูเอลที่ ๒, พระเจ้า
- ไพอัสที่ ๙, สันตะปาปา
- ปีเอรี, จูเซปเป
- เทเลอร์, โจเซฟ
- แบร์นาร์, ซีมง
- โกเมซ, อันโตนีโอ
- การปฏิวัติ ค.ศ. ๑๘๔๘
- ลัทธิอำนาจนิยม
- ออสเตรีย, จักรวรรดิ
- รีซอร์จีเมนโต
- โมเดนา, ดัชชีแห่ง
- สมาคมแห่งชาติ
- ฝรั่งเศสที่ ๒, จักรวรรดิ
- นโปเลียนที่ ๑, จักรพรรดิ
- ฟรานซิส โจเซฟ, จักรพรรดิ
- การีบัลดี, จูเซปเป
- คาวัวร์, เคานต์คามิลโล เบนโซ ดิ
- ออร์ซีนี, เคานต์เฟลีเช
- สมาคมคาร์โบนารี
- มัซซีนี, จูเซปเป
- แผนออร์ซีนี
- โรมัญญา, แคว้น
- รัฐสันตะปาปา
- ปีดมอนต์-ซาร์ดิเนีย, ราชอาณาจักร
- โบนาปาร์ต, ชาร์ล หลุยส์ นโปเลียน,เจ้าชาย
- ซาวอย, ราชวงศ์
- นโปเลียนที่ ๓, จักรพรรดิ
- ความตกลงปลงบีแยร์
- การรวมชาติอิตาลี
- ขบวนการอิตาลีหนุ่ม
- เฟรนช์เกียนา, แคว้น
- ยุทธการลิตเติลบิกฮอร์น
- วินีเชีย
- ลอมบาร์ดี
- เลชีอัม, เขต
- อิตาลีตอนกลาง, ราชอาณาจักรแห่ง
- สาธารณรัฐฝรั่งเศสที่ ๓
- กติกาสัญญาพันธมิตรป้องกันตนเอง
- เอมีลยา-โรมัญญา, แคว้น
- โอสมาน, ชอร์ช
- นีซ, เมือง
- มูรา, นโปเลียน ลูเซียง ชาร์ล
- โบนาปาร์ต, เชโรม, เจ้าชาย
- มูรา, โชอากีม
- ฟลอเรนซ์, เมือง
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
-
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
-
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
สัญชัย สุวังบุตร
บรรณานุกรมคำตั้ง
-
แหล่งอ้างอิง
หนังสือ สารานุกรมประวัติศาสตร์สากลสมัยใหม่ : ยุโรป เล่ม ๕ อักษร L-O ฉบับราชบัณฑิตยสถาน กองธรรมศาสตร์และการเมือง 7.O 753-832.pdf